เศรษฐกิจสร้างสรรค์คืออะไร

ประวัติความเป็นมา 

เศรษฐกิจสร้างสรรค์ถูกกล่าวขึ้นครั้งแรกในหนังสือ The Creative Economy : How People Make Money from Ideas  ของจอห์น ฮาวกินส์ (John Howkins) ตีพิมพ์ปี 2001 โดยการนำเสนอแนวทางใหม่ในการสร้างสรรค์เศรษฐกิจผ่านการใช้ความคิดสร้างสรรค์ ไอเดียใหม่ๆ มาสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ โดยแนวคิดการพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ได้เริ่มมาอย่างยาวนานแล้ว โดยประเทศอังกฤษเป็นผู้ริเริ่มเป็นประเทศแรกๆ ตั้งแต่ปี 1998 กระทรวงวัฒนธรรม สื่อ และการกีฬา (Department of Culture,Media and sport:DCMS) ได้มีนโยบาย “ Cool Britania ” ผลักดันวงการ Spice Gorls  ซีรีย์  Doctor Who ดีไซน์เนออร์อเล็กซานเดอร์ แมคควีน (Alexander McQueen) หรืออย่างเฟอร์นิเจอร์ Habitat ก็ยังถือเป็นส่วนหนึ่งของผลผลิตที่เกิดจากการสนับสนุนอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ แนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ถูกให้ความสนใจและมีประเทศหลากหลายประเทศที่นำไปปรับปรับใช้กับรูปแบบเศรษฐกิจของประเทศตนเอง ตัวอย่างเช่น “Cool Japan” ที่ถูกสนับสนุนโดยรัฐบาลญี่ปุ่น หรือ “Creative Korea” ของเกาหลีใต้  ซึ่งประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศที่ให้ความสนใจ โดยได้นำแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์มาบรรจุไว้ใน แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่11 (พ.ศ. 2555-2559) โดยรัฐบาลไทยได้ให้ความสำคัญกับแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ตลอดเรื่อยมา และในปัจจุบันแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ถือเป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาประเทศในยุค 4.0 อีกด้วย

 

เศรษฐกิจสร้างสรรค์ คืออะไร

เศรษฐกิจสร้างสรรค์ คือ การพัฒนาระบบเศรษฐกิจโดยใช้ความคิดสร้างสรรค์บนฐานขององค์ความรู้ ทรัพย์สินทางปัญญา และการศึกษาวิจัยซึ่งเชื่อมโยงกับวัฒนธรรม พื้นฐานทางประวัติศาสตร์การสั่งสมความรู้ของสังคม เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อใช้ในการพัฒนาธุรกิจ การผลิตสินค้าและบริการในรูปแบบใหม่ซึ่งสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจหรือคุณค่าทางสังคม

 

ทำไมต้องมีเศรษฐกิจสร้างสรรค์?

เนื่องจากความสำเร็จของการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในหลายๆ ประเทศทั่วโลก ทำให้เส้นแบ่งระหว่างอุตสาหกรรมสร้างสรรค์กับอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่ผลิตสินค้าและบริการ หรือที่เรียกรวมกันว่าภาคเศรษฐกิจจริง (Real Sector) กลายเป็นเส้นบางๆ ประกอบกับวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และวิทยาการที่ทันสมัย ทำให้อุตสาหกรรมสร้างสรรค์เข้าไปมีส่วนในการเพิ่มมูลค่าให้แก่ผลิตภัณฑ์ของภาคการผลิตและภาคบริการอื่นๆ ถึงแม้ว่าจะไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับภาคสร้างสรรค์ (Creative Sector) หรือสินทรัพย์ทางวัฒนธรรม (Cultural Assets) เลยก็ตาม เช่น การเปลี่ยนการเกษตรแบบดั้งเดิมให้กลายเป็นการเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farming) ด้วยการนำความคิดสร้างสรรค์และเทคโนโลยี ไปพัฒนากระบวนการผลิต ลดต้นทุน และเพิ่มมูลค่าผลผลิต เป็นต้น ซึ่งในหลายประเทศให้ความสำคัญ และออกนโยบายที่ส่งเสริมการทำงานร่วมกันของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์กับภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น นโยบายที่สนับสนุนให้เกิดการเชื่อมโยงเข้าหากันหรือ Crossover ระหว่างนักออกแบบกับธุรกิจอื่นๆ ของเนเธอร์แลนด์ เป็นต้น

เศรษฐกิจสร้างสรรค์ในประเทศไทย

ตามที่กล่าวไปข้างต้นว่าแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์เป็นแนวคิดที่พึ่งพาความคิดสร้างสรรค์ จินตนาการและไอเดียใหม่ๆของผู้คน มาช่วยในการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ ซึ่งในประเทศไทยก็ได้นำมาประยุกต์ใช้  ซึ่งในปัจจุบันประเทศไทยได้มีหน่วยงานใหม่เกิดขึ้นภายใต้ชื่อ “สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์(องค์การมหาชน)” หรือ Creative Economy Agency (CEA)

โดยทำหน้าที่ในการช่วยในการสนับสนุน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ผ่านการสนับสนุนต่างๆ สร้างพื้นที่ในการออกแบบที่เอื้อต่อการสร้างสรรค์และเริ่มต้นธุรกิจ 

ซึ่งในปัจจุบันมีสื่อ และสินค้าในประเทศที่ได้รับแรงขับเคลื่อนและสนับสนุนจากแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ให้เราเห็นมากมาย ตัวอย่างเช่น ละครเรื่อง “บุพเพสันนิวาส” ที่เป็นตัวกลางในการถ่ายทอดประเพณีวิถีชีวิตอันงดงามของคนไทยในสมัยโบราณ ถ่ายทอดวัฒนธรรมการแต่งกาย อาหาร ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนกระตุ้นและส่งเสริมให้ผู้ชมได้รับแรงจูงใจให้อยากแต่งกาย หรือ ลิ้มรสอาหารอย่างในละคร 

หรือการเพิ่มมูลค่าผ้าขาวม้า จากการใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการดัดแปลงให้เข้ากับบริบทและวิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่มากยิ่งขึ้น 

 

เศรษฐกิจสร้างสรรค์ในต่างประเทศ

อังกฤษ

เมื่อพูดถึงการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ต้องยอมรับว่าสหราชอาณาจักรถือเป็นต้นแบบที่มีการดำเนินงานอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่การจัดตั้งทีมงานเพื่อทำการศึกษาและจำแนกประเภทอุตสาหกรรม การจัดเก็บข้อมูลและสถิติ และการวางนโยบายและแผนงานในระดับต่างๆ คือ นโยบายระดับชาติ (National Policies) นโยบายรายอุตสาหกรรม (Sectorial Policies) และนโยบายเฉพาะเรื่อง (Emerging Policies) นอกจากนี้ยังได้มีการจัดตั้งหน่วยงาน (Public Bodies) ต่างๆ เพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนนโยบายทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาคน การสนับสนุนทางด้านการเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสนับสนุนที่ให้กับธุรกิจขนาดย่อม และการสนับสนุนทางด้านการวิจัยและพัฒนาผ่านสิทธิทางภาษีและโครงการต่างๆ มากมาย นอกจากหน่วยงานภาครัฐแล้ว ภาคเอกชนและภาคการศึกษาก็มีส่วนสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของสห ราชอาณาจักร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการป้อนบุคลากรเข้าสู่อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ตลอดจนการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี

 

ฮ่องกง 

ด้วยการมีตัวเลขเศรษฐกิจภาคบริการคิดเป็น 90% ของเศรษฐกิจรวมทั้งระบบ รัฐบาลฮ่องกงมีกลยุทธ์ในการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์โดยการเน้นทางด้านบริการ ซึ่งรวมถึงการจัดการ การเงิน การตลาด และลอจิสติกส์ ซึ่งเป็นจุดแข็งของเศรษฐกิจฮ่องกง ในขณะเดียวกันก็ส่งงานทางด้านการผลิตไปยังเขตเศรษฐกิจพีอาร์ดี (Pearl River Delta) ของจีน นอกจากนี้ รัฐบาลฮ่องกงยังได้มีจุดมุ่งหมายให้ฮ่องกงเป็น Creative Capital ของภูมิภาค โดยเน้นการจัดทำโครงการขนาดใหญ่เพื่อสร้างให้อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของฮ่องกง เป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติ เช่น การจัดงานสัมมนาประจำปีที่เป็นที่รู้จักกันดีอย่าง Business of Design Week หรือการนำอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของตัวเองออกโปรโมทไปทั่วโลก เช่น งาน Creative Hong Kong ที่ลอนดอน หรืองาน Hong Kong at Cannes 2002 และอีกหลายโครงการที่ทำร่วมกับประเทศจีน เป็นต้น

 

ออสเตรเลีย

อีกประเทศหนึ่งที่ให้ความสำคัญการการพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์มานานแล้วคือ ออสเตรเลีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรม Digital Content โดยการส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของฮ่องกงจะเน้นที่การสนับสนุนตลอดห่วง โซ่มูลค่า (Value Chain) เพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนาอย่างครบวงจร โดยมีตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคืออุตสาหกรรมภาพยนตร์ (Film Industry)

 

ญี่ปุ่น

หันมาดูประเทศที่มีการพัฒนาเศรษฐกิจในรูปแบบเฉพาะตัวอย่าง ญี่ปุ่น น่าสนใจอย่างยิ่งว่า กลไกสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของญี่ปุ่นคือภาคเอกชน ในขณะเดียวกันรัฐบาลก็มีนโยบายเพื่อการสนับสนุนเรื่องต่างๆ เช่น การส่งเสริมเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา การส่งเสริมการลงทุนสำหรับกลุ่มผู้ประกอบการด้านความคิดสร้างสรรค์ ตลอดจนการส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative Cluster) และ เมืองแห่งความคิดสร้างสรรค์ (Creative City) ด้วย ด้วยความที่มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมเป็นจุดแข็ง อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของญี่ปุ่นจึงเน้นไปที่อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับ เนื้อหา (Content Industry) ซึ่งรวมถึง แอนิเมชั่น ภาพยนตร์ ดนตรี และซอฟท์แวร์เกมส