แนวคิดด้านการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์

Creative Tourism หรือ การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์เกิดขึ้นในช่วงปี พ.ศ. 2542-2543 เป็นคำที่ถูกคิดขึ้นโดยโดย  คริสปิน เรย์มอนด์ (Crispin Raymond) และ เกร็ก ริชาร์ด (Greg Richards) ที่พยายามหาคำนิยามความหมายของรูปแบบการท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวได้เข้าไปมีประสบการณ์  และมีส่วนร่วมกับการเรียนรู้ศิลปะและวัฒนธรรมของท้องถิ่นนั้น ๆ โดยเป็นประสบการณ์ที่สามารถนำมาปรับใช้ในการดำเนินชีวิตและการทำงานหลังการท่องเที่ยวได้อีกด้วย ซึ่งได้นิยามความหมายของ Creative Tourism ไว้ว่า “การท่องเที่ยวซึ่งมอบโอกาสให้กับผู้เดินทางในการพัฒนาศักยภาพ การสร้างสรรค์ของตน ผ่านการมีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนรู้ด้วยประสบการณ์จริง ที่เป็นไปตามลักษณะเฉพาะของพื้นที่เป้าหมายที่ได้ท่องเที่ยว” (Richards and Raymond, 2000)

 

 

แนวคิด Creative Tourism ถูกหยิบยกขึ้นมาเผยแพร่อีกครั้งโดยองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ซึ่งได้เสนอแนวความคิดเกี่ยวกับเรื่อง Creative City (เมืองสร้างสรรค์) ที่เป็นการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ โดยในปีพ.ศ. 2547 UNESCO ได้ดำเนินการสนับสนุนนโยบายส่งเสริมความหลากหลายทางวัฒนธรรมของโลก จึงเสนอโครงการ “เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์”(The Creative Cities Network) เพื่อส่งเสริมการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative Industries) ที่จะนำไปสู่รูปแบบใหม่ ของความร่วมมือในระดับนานาชาติ ในภาคประชาชนเอกชน สาธารณะและประชาคม โดยในการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่นี้จะเป็นการท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมกับวิถีวัฒนธรรมและวัฒนธรรมของท้องถิ่นนั้น ๆ ทั้งที่จับต้องได้และจับต้องไม่ได้ ต่อมาในปีพ.ศ. 2551 การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ถูกให้นิยายความหมายใหม่ในการประชุมนานาชาติครั้งแรก ณ เมืองซานตาเฟ ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยมีนิยามใหม่ดังนี้ “การท่องเที่ยวที่มุ่งไปสู่ความผูกพันและประสบการณ์อันแท้จริง ซึ่งได้มาจากการเข้าไปมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ด้านศิลปะ มรดกทางวัฒนธรรมหรือคุณลักษณะเฉพาะของพื้นที่” (Wurzburger, 2009) ซึ่งมีความแตกต่างจากนิยามแรกตรงที่ให้ความสำคัญ และเน้นย้ำความผูกพันของนักท่องเที่ยวและเจ้าของบ้าน (Host and Guests) ผ่านประสบการณ์ที่แท้จริง ด้วยการเข้าไปมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ศิลปะ และมรดกวัฒนธรรม ซึ่งจะนำไปสู่การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและความรู้ได้อย่างแท้จริง ส่วนนิยามแรกจะให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพและการสร้างสรรค์ของนักท่องเที่ยวโดยผ่านการมีส่วนร่วมกับกิจกรรมเฉพาะของพื้นที่ ซึ่งจะส่งผลให้นักท่องเที่ยวมีความจดจำ ประทับใจและในท้ายที่สุดจะมีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในพื้นที่ที่ได้ท่องเที่ยว (สุดแดน และคณะ, 2555) 

นักท่องเที่ยวสร้างสรรค์ (Creative tourist) เป็นผู้ที่มีบาทบาทสำคัญในการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์เพราะเป็นผู้ที่ได้รับประสบการณ์ตรงจากการท่องเที่ยว และมีพฤติกรรมการบริโภคในลักษณะต่าง ๆ หากแต่ที่ผ่านยังไม่มีผลงานวิจัยที่ระบุลักษณะพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ได้อย่างชัดเจน มีเพียงการตั้งสมมติฐานจากการวิเคราะห์หานิยาม ความหมาย และการทบทวนวรรณกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งสามารถระบุคุณลักษณะของนักท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์โดยสรุปได้ ดังนี้ นักท่องเที่ยวสร้างสรรค์จะมีความเต็มใจก้าวออกจากวิถีแห่งการท่องเที่ยวแบบเดิม พร้อมที่จะเรียนรู้ประสบการณ์และวัฒนธรรมใหม่ ๆ และเป็นนักท่องเที่ยวที่ชอบค้นหาทางเลือกใหม่ ยินดีที่จะเยี่ยมแหล่งท่องเที่ยวใหม่ นอกจากนี้ยังมองหาประสบการณ์จริงในวันหยุดผักผ่อน มีส่วนร่วมในการเรียนรู้แลกเปลี่ยนจากภายใน ต้องการเข้าร่วมกิจกรรมสร้างสรรค์เพื่อการพัฒนาทักษะของตน คาดหวังประสบการณ์ที่เปิดโอกาสให้มีปฏิสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับคนในชุมชน (Salman & Uygur, 2010)

 

การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์นั้นถือเป็นส่วนหนึ่งของการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม (Cultural Tourism) ที่ช่วยยกระดับการท่องเที่ยวแบบดั้งเดิมหรือการท่องเที่ยวที่มีคุณภาพต่ำ เช่น การท่องเที่ยวมวลชนที่สนใจเข้าชมและถ่ายภาพสถานที่ที่น่าสนใจและมีความสำคัญในทางธรรมชาติและวัฒนธรรม แต่ในปัจจุบันนักท่องเที่ยวได้เปลี่ยนพฤติกรรมมาสนใจในการท่องเที่ยวเชิงภาพลักษณ์ (Image) อัตลักษณ์ (Identity) วิถีวัฒนธรรม (Lifestyles) บรรยากาศ (Atmosphere) เรื่องเล่า (Narratives) การสร้างสรรค์ (Creativity) และสื่อ (Media) ที่เป็นวิถีวัฒนธรรมสามัญ (Everyday Culture) เพิ่มมากขึ้น ดังนั้นการท่องเที่ยวสร้างสรรค์ (Creative Tourism) จึงมีความสอดคล้องกับทิศทางใหม่ของการท่องเที่ยวในปัจจุบัน และเกิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สามารถดึงดูดคนได้ระดับโลก อาทิเช่น เมืองเก่ามะละกา ประเทศมาเลเซีย เป็นเมืองเก่าที่ใหญ่ที่สุดของเอเชียอาคเนย์และเป็นแหล่งประวัติศาสตร์หลักของประเทศมาเลเซีย จึงทำให้เมืองเก่าแห่งนี้อุดมไปด้วยศิลปะแขนงต่าง ๆ ที่ผสมผสานกับระหว่างยุโรป ตะวันออกกลาง และเอเชีย รวมถึงสถาปัตยกรรมและสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญอีกมากมาย โดยมีกิจกรรมการท่องเที่ยวสร้างสรรค์ของพื้นที่ อาทิ การเดินชมอาคารเก่า ชมพิพิธภัณฑ์และแหล่งประวัติศาสตร์ การล่องเรือชมธรรมชาติและอาคารเก่า การชิมอาหารท้องถิ่น การเข้าพักโฮมสเตย์ และการเรียนรู้วิถีวัฒนธรรมชุมชน เป็นต้น

ในประเทศไทย รัฐบาลได้ประกาศนโยบายการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์อย่างชัดเจนขึ้นในปี พ.ศ. 2551 และมีการดำเนินการส่งเสริมนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เป็นโครงการพัฒนาสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ และมีการพัฒนามาสู่การนำวิถีวัฒนธรรมภูมิปัญญามาเชื่อมโยงเข้ากับการท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม การพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ของประเทศยังคงต้องเดินหน้าต่อและผลักดันให้มากขึ้น เนื่องจากการท่องเที่ยวสร้างสรรค์สามารถเพิ่มมูลค่าในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว แล้วยังเป็นการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวแข่งกับประเทศอื่น ๆ อีกด้วย