งานสัมมนา “Festival Economy in Chiang Mai

งานสัมมนา “Festival Economy in Chiang Mai : ออกแบบเทศกาลอย่างไรจึงจะพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์และเมืองอย่างยั่งยืน” ภายใต้โครงการกิจกรรมการสร้างเครือข่ายระหว่างผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมไมซ์ในในพื้นที่ภาคเหนือ
หน่วยปฏิบัติการวิจัยด้านการออกแบบเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสมาคมวิศิษฏ์ล้านนาเพื่ออุตสาหกรรมไมซ์และการท่องเที่ยว (Visit Lanna for MICE and Tourism Industry in Northern Thailand) เป็นตัวแทนของสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ สสปน. ร่วมกันจัดงานสัมมนา “Festival Economy in Chiang Mai : ออกแบบเทศกาลอย่างไรจึงจะพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์และเมืองอย่างยั่งยืน” ภายใต้โครงการกิจกรรมการสร้างเครือข่ายระหว่างผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมไมซ์ในในพื้นที่ภาคเหนือ โดยมี ดร.จุฑา ธาราไชย ผู้อำนวยการส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ ภาคเหนือ เป็นผู้กล่าวรายงานและแถลงวัตถุประสงค์การจัดงาน รวมถึง นายวรญาณ บุญณราช รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ได้ให้เกียรติเป็นประธานในการกล่าวเปิดงาน เมื่อวันอังคาร ที่ 14 มิถุนายน 2565 เวลา 13.00-16.30 น. โดยกิจกรรมพัฒนาเครือข่ายและพัฒนาตลาดเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์ในพื้นที่ภาคเหนือให้สามารถแข่งขันได้ในระดับชาติและนานาชาติ มีเป้าหมายเพื่อผลักดันจังหวัดเชียงใหม่ในการเข้ารับรางวัล IFEA World Festival & Event City Award 2022 เพื่อสร้างเครือข่ายและรับการสนับสนุนการพัฒนาเทศกาลกับ International Festivals and Events Association (IFEA) ควบคู่ไปกับการสร้างความร่วมมือระหว่างผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ผ่านการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ (workshop) เพื่อร่วมคิด ร่วมสร้าง และร่วมวางแผน (Co-creation) แนวทางการออกแบบเทศกาลร่วมกัน

การวางแผนกระบวนการประชุมและการหารือ

แผนการจัดงานสัมมนาในครั้งนี้ได้แบ่งออกเป็น 2 ช่วง โดยในช่วงแรกจะเป็นการนำเสนอข้อมูลก่อนการหารือ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมได้เห็นแนวทาง กระบวนการ และกรณีศึกษาในการใช้เทศกาลเป็นกลไกสำหรับการพัฒนาท้องถิ่นทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ผ่านการบรรยาย 2 เรื่อง ได้แก่ “Festival economy : ทำอย่างไรเทศกาลจึงจะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นและเมืองอย่างยั่งยืน” โดย ผศ.ดร.ณัฐพงศ์ พันธ์น้อย อาจารย์ประจำภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ “การเดินทางของ Chiang Mai Blooms” โดยคุณอนุรักษ์ อินชื่น ผู้ร่วมก่อตั้งสมาคมวิศิษฏ์ล้านนาเพื่ออุตสาหกรรมไมซ์และการท่องเที่ยว
ช่วงที่สองเป็นการร่วมคิด ร่วมสร้าง ร่วมวางแผน (Co-creation) หรือช่วงระดมความเห็น โดยในภาพรวมของกระบวนการจะมีวิทยากรดำเนินรายการและถามคำถามผู้เข้าร่วมกิจกรรมประชุมภายใต้เวลาที่จำกัด และมีการนำเสนอผลการหารือหลังการระดมความคิดเห็นจบลง ในกระบวนนี้คณะวิจัยได้แบ่งประเด็นการหารือออกเป็น 2 ประเด็นหลัก ได้แก่ การพัฒนาเทศกาลใหม่ของเมือง และการต่อยอดเทศกาลเดิมของเมือง โดยจัดกลุ่มผู้เข้าร่วมกิจกรรมออกเป็นกลุ่มย่อยเพื่อหารือในแต่ละประเด็น
การประชุมในครั้งนี้เผยให้เห็นถึงรูปแบบและกระบวนการที่ช่วยสร้างการมีส่วนร่วมต่อการพัฒนาเมืองอันเป็นประโยชน์ทั้งสำหรับจังหวัดเชียงใหม่และเมืองอื่น ๆ ในภาคเหนือ ซึ่งผู้เข้าร่วมได้เสนอแนวทางตั้งต้นของการพัฒนาและต่อยอดเทศกาลที่เป็นประโยชน์ในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการจัดเทศกาลของเมืองอย่างยั่งยืน ผลการหารือแสดงให้เห็นถึงทิศทางการพัฒนาในหลายมิติ ทั้งการตีความเทศกาล การสร้างสรรค์กิจกรรม การดึงดูดกลุ่มเป้าหมาย ครอบคลุมไปจนถึงการระบุผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการดำเนินการ โดยชุดข้อมูลเหล่านี้สามารถนำไปบูรณาการร่วมกับเป้าหมายในการพัฒนาเมืองก่อให้เกิดเป็นยุทธศาสตร์และการสร้างกลไกให้เมืองสามารถยกระดับการแข่งขันสู่ระดับนานาชาติ พร้อมกับก้าวไปสู่การเป็นเมืองเทศกาลในอนาคต